ค้นชีวิต 2 ข้าราชการหัวใจ (รัก) ประชาชน
40,185อ่าน
1
ผู้ใหญ่บ้านธีรพันธุ์ บุญบาง
พี่เล็ก จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก youtube.com โพสต์โดย TheGuardianAngle1 , ทีวีบูรพา , รายการคนค้นฅน
ก่อนหน้านี้ รายการคนค้นฅน เคยนำเสนอเรื่องราวของสุดยอดข้าราชการต้นแบบ ที่อุทิศตัวเพื่อประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ด้วยคติประจำใจว่า"ข้าราชการคือข้าของแผ่นดิน" มาหลายครั้งแล้ว และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่รายการคนค้นฅน ได้นำเรื่องราวของ 2 ข้าราชการที่ทำงานเพื่อประชาชนมาตีแผ่ เพื่อสะท้อนให้เห็นได้ว่า จริง ๆ แล้วในประเทศไทยยังมีข้าราชการดี ๆ ที่เรายังไม่รู้จักเขาอยู่เป็นจำนวนมาก
...อย่างเช่น 2 ข้าราชการที่ได้รับรางวัลคนดีของแผ่นดินปีที่ 2 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม
สำหรับข้าราชการท่านแรกที่ได้รับการยกย่องจาก ป.ป.ท. วันนี้ หากใครไม่รู้จักเขา คงจะคิดว่าเขาเป็นพราหมณ์ หรือนักพรตผู้ทรงศีลทั่วไปเป็นแน่แท้ ด้วยสไตล์การแต่งตัวนุ่งขาว ห่มขาว ไว้ผมเผ้าหนวดเครา ที่กลายเป็นภาพคุ้นตาของชาวบ้านเนินน้ำเย็น หมู่ 1 ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ แต่ทุกคนเรียกชายผู้นี้ว่า "ผู้ใหญ่บ้าน"
ผู้ใหญ่บ้านธีรพันธุ์ บุญบาง
กว่า 24 ปีแล้วที่ "ผู้ใหญ่บ้านธีรพันธุ์ บุญบาง"ทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้านหลังนี้ และมีผลงานจนเป็นที่รักและเคารพของลูกบ้าน ที่เห็นเด่นชัดเมื่อย่างก้าวเข้าไปในที่ทำการผู้ใหญ่บ้านก็คือ ที่แห่งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงบ้านที่เปิดให้ลูกบ้านเข้ามาปรึกษาหารือแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ภายในอาณาเขตของที่ทำการฯ ยังมีทุ่งนา แปลงผัก บ่อปลา บ่อกบ เล้าหมู เล้าไก่ และองค์ความรู้อีกมากมายที่ผู้ใหญ่บ้านเปิดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งเศรษฐกิจพอเพียง ในชื่อ "โครงการเศรษฐกิจพอเพียง 1 ไร่แก้จน สวรรค์บ้านนา" หรือการเกษตรแบบผสมผสาน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ บอกว่า ที่เขาทำเช่นนี้ เพราะต้องการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ลูกบ้าน และเนื่องจากเขาเป็นคนที่ศรัทธาต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว จึงมานั่งคิดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ลูกบ้านใช้ทรัพยากรให้เป็น จะได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน แล้วจะได้พึ่งตนเองได้นั่นเอง และเพราะแนวคิดของผู้ใหญ่ ทำให้หมู่บ้านเนินน้ำเย็นแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบแห่งเดียวในจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีชาวบ้าน และชุมชนจากหลาย ๆ หมู่บ้านเดินทางมาศึกษาดูงานที่นี่อยู่เป็นประจำ เพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนของพวกเขา
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมผู้ใหญ่บ้านธีรพันธุ์ จึงนิยมการนุ่งขาวห่มขาวเช่นนี้ ตัวผู้ใหญ่เองจึงได้ย้อนกลับไปเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่เขาจะมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เขาเคยรับราชการเป็นตำรวจ แล้วลาออกมาเป็นพนักงานธนาคาร กระทั่งช่วงนั้น เขาก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า"เขาเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่ออะไร"ก่อนจะพาครอบครัวออกธุดงค์เพื่อแสวงหาคำตอบข้อนี้มานานถึง 3 ปี จนพบคำจริงของชีวิตว่า "ชีวิตที่มีค่าที่สุดก็คือการได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่น" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ใหญ่จึงปวารณากับตัวเองว่า ชาตินี้จะต้องทำดีเพื่อแผ่นดิน ด้วยการสร้างวัด สร้างโรงเรียน และสร้างคน
ผู้ใหญ่บ้านธีรพันธุ์ บุญบาง
การสร้างคนของผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ เริ่มต้นจากการใช้ธรรมะที่เขาเลื่อมใสศรัทธา ชักจูงให้คนเข้ามาใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามากขึ้น ผ่านตัวผู้ใหญ่บ้านเองที่ดำรงชีวิตด้วยการยึดหลักธรรมะเป็นที่ตั้ง ซึ่งก็ทำให้หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ และทำให้ผู้ใหญ่กล้าประกาศว่า ชุมชนแห่งนี้ปลอดอาชญากรรม และปลอดยาเสพติด
"ผู้นำต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราต้องเป็นต้นแบบของการทำความดีให้ลูกบ้านได้เห็น ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องเริ่มจากจิตใต้สำนึกก่อน ถ้าจิตใต้สำนึกเข้มแข็งก็เท่ากับมีความคิด มีปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วก็จะไม่ไปคิดทำเรื่องไม่ดี ดังนั้นเราต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมกับเยาวชนให้มากที่สุด และใช้การศึกษาสร้างคน" ผู้ใหญ่เผยแนวคิด
ผู้ใหญ่ยังบอกอีกว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ก็คือ การสร้างคนให้เป็นมนุษย์ สร้างมนุษย์ให้เป็นพระ สร้างพระให้เป็นเทวดา เขาจึงมุ่งมั่นจะปลูกฝังอนาคตที่ดีให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนของชาติ อย่างเช่น การไปเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติ ขัดเกลาเยาวชนชายหญิงในสถานพินิจที่เคยทำผิดพลั้งมาก่อน ด้วยธรรมะบำบัด และการฝึกสอนอาชีพ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำมานับสิบปี ยังส่งผลให้เยาวชนกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่ผ่านโครงการของหมู่บ้าน สามารถเปลี่ยนตนเองได้ และทำให้ "คน" กลายเป็น "มนุษย์" ขึ้นมาได้สมความปรารถนาของผู้ใหญ่ในที่สุด
พี่เล็ก จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร
เรื่องราวของข้าราชการที่นำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น ไม่ใช่มีเพียงแค่เรื่องของผู้ใหญ่ธีรพันธุ์คนเดียว เพราะใน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ก็ยังมีข้าราชการหนุ่มพัฒนากรชุมชนคนหนึ่งที่ยึดเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ให้เข้าถึงชาวบ้านได้เช่นกัน นอกจากนี้ เขายังใช้ "ใจ" เชื่อม "ใจ" กับชาวบ้านจนกลายเป็นข้าราชการขวัญใจชุมชนของพี่น้องชาวหลังสวน ที่ใคร ๆ ก็รู้จักกันดีในนาม "พี่เล็ก" จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร อดีตนายตำรวจชุดปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์
ด้วยบุคลิกส่วนตัวของพี่เล็กที่เป็นกันเอง สนุกสนาน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อัธยาศัยดี และชอบลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน เขาจึงเปลี่ยนจากอาชีพตำรวจมาเป็นพัฒนากรชุมชน ด้วยความหวังที่จะพัฒนาบ้านเกิดของเขาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็เป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว ที่พี่เล็กในฐานะพัฒนากรชุมชนต้องลงพื้นที่มากกว่าจะนั่งอยู่บนเก้าอี้ในที่ทำงาน
ทุก ๆ วัน พี่เล็ก จะต้องลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน หรือไปประสานงานติดต่อช่วยเหลือชาวบ้าน โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นช่วงกลางวัน หรือกลางคืน จนใคร ๆ ต่างก็รู้จักแก และยิ้มต้อนรับโอภาปราศรัยด้วยดีในทุกครั้งที่พี่เล็กมาเยือน ทุกครั้งที่พี่เล็กลงพื้นที่ก็จะไม่ได้แต่งชุดราชการ หากแต่ใส่เพียงชุดลำลองเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพื่อให้เข้าถึงและดูเหมือนเป็นญาติสนิทมิตรสหายกับชาวบ้านมากที่สุด
สิ่งที่พี่เล็กทำในยามลงพื้นที่พบปะชาวบ้านก็คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพ และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน มาปรับใช้กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ โดยตัวพี่เล็กเองก็ได้ทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นด้วยการปลูกสวนผลไม้หลายอย่างกินเองในบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ซึ่งแนวคิดนี้ก็ได้ผลดีเป็นอย่างมาก
"เศรษฐกิจพอเพียงก็คือการพออยู่ พอกิน ถ้ามีเหลือก็ขายได้ จริง ๆ ส่วนใหญ่ในชุมชนก็มีวัตถุดิบอยู่แล้ว เราก็มีหน้าที่ไปส่งเสริมให้เขาแปรรูปวัตถุดิบ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ชาวบ้านจะได้สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง และเราก็ต้องเข้าไปปรับระบบให้ดียิ่งขึ้นด้วย" พี่เล็กบอก
ชาวบ้านและคนที่รู้จักพัฒนากรชุมชนหนุ่มใหญ่คนนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พี่เล็กเป็นผู้ที่มีความสามารถ ให้คำปรึกษา และคำแนะนำที่ดีในการจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ และแม้ว่าเขาจะเป็นข้าราชการ แต่คนทั่วไปก็มองว่า พี่เล็กเป็นเหมือนพี่เหมือนน้องของชาวบ้าน ไม่เหมือนข้าราชการทั่ว ๆ ไป จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านในเกาะพิทักษ์ ต.บางน้ำจืด จะรักหนุ่มใหญ่หัวใจรักการบริการคนนี้
พี่เล็ก จ่าสิบตำรวจวิชิต กัลยาณวัตร
"การได้ลงพื้นที่เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก 11 ปีที่ผ่านมา เราก็ทำหน้าที่เต็มกำลัง ช่วยเขาเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเวลานอกราชการ หรือในราชการ เวลาลงพื้นที่เห็นพี่น้องประชาชนมีความสุข เราก็ภูมิใจ จริง ๆ ก็เคยมีท้อบางเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถอย เพราะคิดไว้แล้วว่า เกิดมาเป็นคนไทยก็จะต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน เลยคิดอยู่เสมอว่า เกิดมาชาตินี้จะสร้างความดีไม่เคยหวั่น จะเร่งสร้างทั้งคืนและทั้งวัน เพื่อชีวิตอันสั้นนั้นมีราคา คิดอยู่เท่านี้" พี่เล็ก ทิ้งท้าย
การทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเริ่มต้นให้ตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมที่มีอยู่ในหัวใจของผู้ใหญ่ธีรพันธุ์ และพี่เล็ก วิชิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราทุกคนเห็นว่าพวกเขาทั้งสองคนเหมาะสมกับการยกย่องให้เป็นข้าราชการต้นแบบคนดีของแผ่นดิน ที่มองเห็นประชาชนเปรียบเสมือนพี่น้อง และทำงานด้วยหัวใจที่เข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
เขียนเมื่อ 2018-10-10 15:15:41 ผู้เขียน admin |