คณะสหเวชศาสตร์ / เทคนิคการแพทย์
สหเวชศาสตร์ / เทคนิคการแพทย์ คือ คณะซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์หลายสาขา ในปัจจุบันได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาต่าง ๆ ดังนี้
1.สาขาเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ใช้เทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์ วิจัย สุ่มตัวอย่างจากร่างกายมนุษย์ เพื่อนำผลการตรวจไปใช้ในการประเมินสุขภาพ วินิจฉัยโรค ติดตามการดำเนินของโรค และผลของการรักษา
2.สาขากายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพที่กระทำโดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ในการตรวจ ประเมิน วินิจฉัย บำบัดความบกพร่องของร่างกาย ที่เกิดจากภาวะของโรคและการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากความเจ็บปวดและภาวะของโรค การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันการแก้ไข และการฟื้นฟูการเสื่อมสภาพความพิการของร่งกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การดัด การดึง การประคบ การนวด การเคลื่อนไหว การออกกำลังตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือ การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
3.สาขารังสีเทคนิค เป็นวิชาชีพที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการให้บริการทางเทคนิคในการตรวจวิเคราะห์ และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี รวมทั้งการป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ป่วย หรือผู้มารับบริการทางเทคนิค ในการตรวจวิเคราะห์และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี แบ่งออกเป็น
|
งานทางรังสีวินิจฉัย เช่น จัดนำผู้ป่วย และถ่ายภาพเอกซ์เรย์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โดยกำหนดค่าปริมาณรังสีที่พอเหมาะ (Optimum Exposure Factor) ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบาย ได้รับ
ปริมาณรังสีน้อยที่สุด ( Minimum Radiation Absorbed Dose) และภาพรังสีที่ได้มีคุณภาพดี
ถ่ายภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วยระบบดิจิตอลอิมเมจจิน เช่น เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น โดยจัดท่าผู้ป่วยให้เหมาะสม ปรับตั้งโปรแกรม เลือกพารามิเตอร์ ที่ทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพดี บันทึกภาพ เก็บข้อมูลและสามารถเรียกข้อมูลกลับมาดูใหม่ได้อย่างถูกต้อง ร่วมมือกับแพทย์ในการตรวจพิเศษทางรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจระบบทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และการตรวจทางรังสีร่วมรักษา เช่น การขยายหลอดเลือด ควบคุมดูแลการใช้งานและ การเก็บรักษาเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์บันถึงภาพทางรังสี เช่น ฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม เครื่องล้างฟิล์ม เป็นต้น ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดีสม่ำเสมอ ตรวจสอบการประกันคุณภาพ และบำรุงรักษาเครื่องมือทางรังสีวินิจฉัย และร่วมรับผิดชอบง่านป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ป่วย บุคคลที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป |
|
งานทางรังสีรักษา เช่น วางแผนการรักษามะเร็งด้วยรังสี โดยกำหนดตำแหน่งและขอบเขตของก้อนมะเร็งด้วยเครื่องจำลองการรักษา เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ และตรวจสอบผลการรักษาเป็นระยะ ๆ ด้วยเครื่องมือดังกล่าว จัดท่าทางฉายรังสีแก่ผู้ป่วยเพื่อฉายรังสีเอกซ์เรย์พลังงานสูง รังสีแกมมา หรืออิเล็กตรอน จากเครื่องกำเนิดรังสีไปยังก้อนมะเร็ง หรือสอดใส่สารกัมมันตรังสีสู่ร่างกายเพื่อทำลายมะเร็งจากการควบคุมระยะไกล และระยะใกล้ จัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยในการฉายรังสี เช่น หน้ากาก สำหรับผู้ป่วย อุปกรณ์จับยึดเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหว อุปกรณ์กำบังรังสี เป็นต้น คำนวณหาแผนภูมิการกระจายรังสีของแต่ละพื้นที่การรักษา เพื่อให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด รวมทั้งคำนวณหาเวลาการฉายรังสีที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง ร่วมตรวจสอบการประกันคุณภาพ และบำรุงรักษาเครื่องมือทางรังสีรักษา ร่วมรับผิดชอบงานป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ป่วย บุคคลที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป |
|
งานทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น ควบคุมการทำงานเครื่องถ่ายภาพและบันทึกภาพการทำงานของ
อวัยวะภายในด้วยสารกัมมันตรังสี และเครื่องนับวัดปริมาณรังสีจากร่างกายผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด การกิน การสูดดมสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัย และหรือติดตามผลการรักษาโรค สำหรับเครื่องถ่ายระบบดิจิตอล เช่น SPEC , PET สามารถปรับตั้งพารามิเตอร์ ให้ได้ภาพรังสีที่มีคุณภาพดีที่สุด ประมวลผลภาพและสามารถเรียกข้อมูลภาพกลับมาดูได้อย่างถูกต้อง ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการสร้างภาพและคำนวณค่าทางสรีรวิทยาจากภาพได้อย่างถูกต้อง ใช้วิธีการทางห้องปฏิบัติการร่วมกับสารกัมมันตรังสี ในการวิเคราะห์ตรวจสอบสิ่งที่ส่งมาตรวจจากผู้ป่วย ตลอดจนการควบคุมการทำงานเครื่องนับวัดปริมาณรังสี วัดสิ่งส่งตรวจ แล้วรายงานผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและพยากรณ์ความรุนแรงของโรค ร่วมตรวจสอบการประกันคุณภาพ และบำรุงรักษาเครื่องมือทางเวชศาสตร์ นิวเคลียร์ ร่วมจัดระบบการเก็บสารกัมมันตรังสี การกำบังรังสี การป้องกันการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระหว่างคน เครื่องมือ และสิ่งแวดล้อม การกำจัดกากกัมมันตรังสีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมรับผิดชอบงานป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ป่วยบุคคลที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป |
4. สาขากิจกรรมบำบัด เปิดการศึกษาเพื่อผลิตนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งเป็นบุคคลากรหนึ่งในทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มุ่งเน้นให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันความพิการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพในผู้ที่มีความเสื่อมสมรรถภาพ หรือความพิการทางด้านร่างกาย จิต สังคม พัฒนาการ การรับรู้ และความรู้ความเข้าใจ ด้วยวิธีการทางกิจกรรมบำบัด ซึ่งได้แก่ การใช้กิจกรรมที่ได้วิเคราะห์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องพยุงส่วนของร่างกาย หรืออุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ รวมทั้งการใช้เทคนิคพิเศษในการบำบัดรักษาเฉพาะทาง เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยอิสระ นักกิจกรรมบำบัด จะให้การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาดังต่อไปนี้ ด้านพัฒนาการ ด้านอายุรกรรม ด้านศัลยกรรม ด้านระบบประสาท ด้านกระดูกและข้อ ด้านจิตเวช ด้านผู้สูงอายุ โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบดังนี้ ช่วยตรวจสอบค้นหาข้อบกพร่อง รวมทั้งให้การบำบัดรักษาในเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ ช่วยกระตุ้น ฟื้นฟูและส่งเสริมความสามารถในผู้ที่มีปัญหาด้านการรับรู้ และการเรียนรู้ สอนและฝึกหัดกิจวัตรประจำวัน เช่น การเคลื่อนย้ายตัว สุขอนามัยส่วนบุคคล การรับประทานอาหาร เป็นต้น ให้การรักษาพิเศษ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถทางกาย ได้แก่ เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ เพิ่มความทนทานในงาน สหสัมพันธ์ในการทำงาน เป็นต้น รวมถึงการดัดแปลงอุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริมและเทียมให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยรวมทั้งฝึกหัด การใช้และการดูแลรักษา ดัดแปลงสภาพบ้าน และขจัดสิ่งกีดขวางทางสถาปัตยกรรม ให้การรักษาพิเศษ แก่ผู้ที่มีปัญหาด้านจิตสังคม อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยโรค ช่วยลดหรือขจัดแรงขับทางอารมณ์ แก้ไขและปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับความเครียดหรือความวิตกกังวล ประเมินสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ความสนใจงาน นิสัยในการทำงาน รวามทั้งปรับปรุงทักษะ และศักยภาพในการประกอบอาชีพ แนะนำโปรแกรมการใช้ชีวิตและการปรับตัวภายหลังการเกษียณให้แก่ผู้สูงอายุ
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ ควรเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ และชีววิทยา มีจิตใจรักในเพื่อนมนุษย์ มีความเมตตากรุณา มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตวิทยา มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความรับผิดชอบสูง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
แนวทางในการประกอบอาชีพ
ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลป์ได้ตามสาขาที่สำเร็จการศึกษา สามารถรับราชการในโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐและเอกชน หรือประกอบอาชีพอิสระได้ ปัจจุบันสาขาต่าง ๆ ทางเทคนิคการแพทย์เป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนที่ตลาดมีความต้องการสูงมาก และสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอกได้หลายสาขา
ที่มา http://www.act.ac.th/service/info/jib/page/jib05.htm
เขียนเมื่อ 2018-10-10 15:07:39 ผู้เขียน admin |